𝐁𝐫𝐚𝐬𝐬: 𝐋𝐚𝐧𝐜𝐚𝐬𝐡𝐢𝐫𝐞
มณฑลทางตะวันตกเฉียงเหนือของสหราชอาณาจักรที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้ใบหญ้าเพราะอาชีพหลักของคนแถวนี้คือการเกษตร รายได้ก็ไม่ได้มากมายต้องใช้ชีวิตกันแบบประหยัด จนมาถึงวันนึงที่ประเทศได้รู้จักกับเครื่องจักรไอน้ำที่เจมส์ วัตต์ ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ทำให้ประเทศเปลี่ยนจากการเกษตรที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์ เป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่พึ่งพาเครื่องจักร
ค.ศ. 1785 เจมส์ วัตต์ ได้ผลิตเครื่องจักรปั่นฝ้ายได้สำเร็จ ทำให้การปั่นฝ้ายทำได้อย่างรวดเร็วมาก ประชาชนเข้ามาทำงานในตัวเมืองแมนเชสเตอร์กันมากขึ้นเพื่อทำงานในโรงปั่นฝ้าย และยังมีลิเวอร์พูลเมืองท่าสำคัญที่ติดแม่น้ำเมอร์ซี่ย์ เป็นแหล่งส่งออกผ้าฝ้ายที่สำคัญที่สุดของประเทศ จนทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นการเริ่มต้นของยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม
ต้นตำรับสุดยอดเกม
ในปี 2007 มาร์ติน วอลเลซ ได้ทำเกมที่ชื่อว่า Brass ขึ้นมา จากนั้นในปี 2017 ทางค่าย Roxley ได้นำเกม Brass มาทำอาร์ตใหม่ในชื่อ Brass: Lancashire และได้ทำภาคแยกที่เอาระบบหลักของ Brass มาเพิ่มระบบให้มีความหลากหลายมากขึ้นในชื่อ Brass: Birmingham แล้วเปิดระดมทุนใน Kickstarter พร้อมความสำเร็จจากการที่มีคนช่วยสนับสนุนหนึ่งหมื่นสามพันกว่าคน
เกมจะมีกระดานแผ่นใหญ่ที่มีชื่อเมืองต่างๆในแลงคาเชอร์ โดยระบบเศรษฐกิจหลักของเมืองคือ โรงทอฝ้าย ที่เห็นเป็นรูปเหมือนโรงงานสีแดงชมพูหลังคาสีฟ้า แต่การสร้างโรงทอฝ้ายต้องใช้เงินในการสร้างเยอะ และถ้าโรงทอฝ้ายยิ่งเลเวลสูง ต้องใช้ถ่านหรือเหล็กในการสร้างด้วย แล้วเราจะเอาจากไหนละ
ขุดเหมืองถ่าน
เราสามารถสร้างเหมืองถ่านโดยจ่ายเงินตามระดับของเหมือง เราต้องสร้างจากระดับต่ำสุดก่อน โดยแผ่นที่เรานำไปสร้างมุมขวาล่างจะบอกว่าได้ถ่านทั้งหมดกี่ก้อน แต่ตามประวัติศาสตร์การใช้ถ่านจะต้องใช้เยอะ ต้องขนส่งผ่านทางเรือ หรือ รถไฟเท่านั้น เช่น ถ้าเราต้องการสร้างโรงทอฝ้ายที่เมือง Manchester แต่เรา หรือ เพื่อน สร้างเหมืองถ่านที่เมือง Bolton เราต้องสร้างทางเพื่อเชื่อมไปหาเมือง Boltonเพื่อที่จะสามารถขนถ่านมาสร้างโรงทอฝ้ายที่ Manchester
โรงเหล็ก
แผ่นเครื่องจักรสีส้มทอง คือ โรงเหล็กที่เราสามารถสร้างได้ วิธีสร้างเหมือนเหมืองถ่าน เมื่อสร้างเสร็จเราจะเอาก้อนเหล็กมาวางบนโรงเหล็ก ตามจำนวนที่แสดงขวาล่าง แต่ตามประวัติศาสตร์เหล็กมีลักษณะเป็นแท่ง ทำให้ขนส่งง่าย ใช้ม้าในการขนส่งได้ ดังนั้นถ้าอยากจะใช้เหล็ก ก็สามารถใช้ได้ทันทีขอแค่เรามีเหล็กเหลือในโรงเหล็ก
ตลาดกลาง
ถ้าเหมืองถ่าน หรือ โรงเหล็กไม่เหลือของให้ใช้ เราสามารถซื้อของพวกนี้จากตลาดกลางได้ แล้วตลาดกลางคืออะไรหละ ตลาดกลาง คือ เมืองรอบนอก Yorkshire และ Scotland จะมีสัญลักษณ์ลูกศรไปกลับ เราสามารถซื้อถ่านได้ถ้าการคมนาคม(เรือ & รถไฟ) ไปถึง 2 เมืองนี้ แต่เหล็กสามารถซื้อจากตลาดกลางได้ทันทีไม่ต้องใช้พึ่งพาเรือและรถไฟ
เราสามารถที่จะสร้างตลาดกลางได้ด้วยตัวเอง โดยการสร้างท่าเรือ ที่เป็นรูปสมอเรือ จะสังเกตบนสมอเรือ จะมีสัญลักษณ์ลูกศรไปกลับเช่นกัน สัญลักษณ์นี้คือตลาดกลาง แปลว่าถ้าเราต่อการคมนาคมมาถึงท่าเรือ เราจะสามารถใช้ถ่าน หรือ เหล็ก จากตลาดกลางได้
แอคชั่นทั้งหมดในเกม
1.) สร้าง(𝐁𝐮𝐢𝐥𝐝) เราจะมีการ์ดบนมือทั้งหมด 8 ใบ การ์ดจะมี 2 ประเภท คือ การ์ดชื่อเมือง เอาไว้สร้างอุตสาหกรรมที่มีในเมืองนั้นได้เลย และ การ์ดอุตสาหกรรม คือเราสามารถสร้างอุตสาหกรรมได้ตามรูปที่เมืองไหนก็ได้ที่การคมนาคมของเราไปถึง
2.) สร้างคมนาคม(𝐍𝐞𝐭𝐰𝐨𝐫𝐤) ทิ้งการ์ด 1 ใบ เพื่อที่จะสร้าง เส้นทางเรือ(ยุคแรก) หรือ เส้นทางรถไฟ(ยุคสอง)
3.) พัฒนาอุตสาหกรรม(𝐃𝐞𝐯𝐞𝐥𝐨𝐩) ทิ้งการ์ดบนมือ 1 ใบ เพื่อเอาแผ่นอุตสาหกรรมในบอร์ดของเราออกได้สูงสุด 2 ชิ้น แต่ทุกๆ 1 ชิ้นที่หยิบออก เราต้องใช้เหล็ก 1 ก้อน
4.) ขาย(𝐒𝐞𝐥𝐥) อย่างที่บอกเศรษฐกิจหลักของเมืองคือฝ้าย เราต้องทิ้งการ์ด 1 ใบ แล้วสามารถขายโรงทอฝ้ายเราได้ ขายกี่หลังก็ได้ เมื่อขายเสร็จเราจะทำการพลิกโรงทอฝ้ายเรา แต่การขายจะมี 2 ประเภท คือ
4.1) ขายในประเทศผ่านท่าเรือ จะขายผ้าฝ้ายได้ตามจำนวนท่าเรือที่เรามี ขายเสร็จก็พลิกท่าเรือ(สมอเรือ) แล้วเราจะไม่สามารถใช้ท่าเรือนี้ในการขายผ้าฝ้ายได้อีกต่อไป แต่ยังใช้เป็นตลาดกลางได้
4.2) ส่งออกนอก อันนี้จะใช้ดวงในการขาย โดยเราต้องจั่วไทล์เรือสำเภา 1 ใบ ต่อการขาย 1 โรงทอฝ้าย โดย tile เรือสำเภาส่วนใหญ่จะเป็นเลขลบ เราจะเดินแทรคลบไปตามจำนวนที่เปิดได้ ถ้าลบจนถึงตำแหน่ง X การขายนั้นจะไม่สำเร็จ และเสียแอคชั่นไปฟรีๆ
5.) กู้(𝐋𝐨𝐚𝐧) ทิ้งการ์ด 1 ใบ แล้วเราจะได้เงิน 30 ปอนด์ และ เราจะถูกลด Income ไป 3 หน่วย
ทำแต้มให้มากที่สุด
เราจะได้เล่นทั้งหมดสองยุค โดยแต่ละยุคจะจบเมื่อการ์ดทุกคนหมดมือ จากนั้นเราจะเอาแผ่นอุตสาหกรรมระดับหนึ่งออกจากกระดานกลางให้หมด(อุตสาหกรรมตกยุค) แต่ละคนจะมานับคะแนนทางที่เราได้สร้างไว้ 1 คะแนนตามจำนวนสัญลักษณ์รางสีดำบนแผ่นอุตสาหกรรมที่เราสร้าง บวกกับคะแนนที่เราจากการพลิกแผ่นอุตสาหกรรมระหว่างเกม โดยในภาคนี้จะมีเรือสำเภา เมื่อเราสร้างเรือสำเภาจะพลิกไทล์ทันทีพร้อมกับแต้มที่ได้สูงมากแต่ก็สร้างไม่ง่ายเพราะใช้เงินเยอะในการสร้าง จบเกมใครแต้มมากสุดก็ชนะไป
ข้อดี
👍 เป็นเกมที่ระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนโดยผู้เล่นอย่างแท้จริง ซื้อสินค้าในตลาดเยอะราคาก็แพง คนซื้อน้อยของในตลาดก็ถูก
👍 เกมมีความตื่นเต้นต้องลุ้นว่าแผนจะสำเร็จไหมเพราะเกมมีการชิงจังหวะเพื่อแย่งจุดยุทธศาสตร์ในการทำแต้ม
👍 เป็นเกมยูโรที่ธีมเกมชัดเจน ทุกๆการกระทำมีเหตุผลรองรับหมด
สรุป
ภาคนี้ยังคงเป็นหนึ่งในสุดยอดเกมแนวเศรษฐศาสตร์ที่อยากให้ลองเล่น ความสนุกของเกมให้พอๆกับ Brass: Birmingham แต่ภาคนี้จะมีความอึดอัดกว่าเพราะมีจุดยุทธศาสตร์ที่ต้องไปแย่งกัน ให้สรุปก็ถ้าชอบความยืดหยุ่นไม่เครียดมากก็ไปภาค Birmingham แต่ถ้าชอบการแข่งขัน ชิงไหวชิงพริบก็ไปภาค Lancashire